จากกรณีราชกิจจานุเบกษาประกาศเรื่องระเบียบกรมกิจการผู้สูงอายุ ว่าด้วยการคุ้มครองผู้สูงอายุแบบครอบครัวอุปถัมภ์ พ.ศ. 2566 กรมกิจการผู้สูงอายุ มีภารกิจเกี่ยวกับการคุ้มครองการส่งเสริมและการสนับสนุนผู้สูงอายุในด้านต่าง ๆ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุและการสร้างความเสมอภาคและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ตามนโยบายรัฐบาล อีกทั้งเพื่อตอบสนองผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่มีความต้องการอยู่กับครอบครัวชุมชนและสังคม สอดรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันที่ท้าให้เกิดปัญหาครอบครัวไม่สามารถดูแลผู้สูงอายุได้
ดังนั้น เพื่อคุ้มครองผู้สูงอายุให้มีความปลอดภัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยการสนับสนุนให้ครอบครัว ชุมชน ดูแลผู้สูงอายุ และทำให้ผู้สูงอายุได้อยู่ร่วมกับครอบครัว ชุมชน และสังคม ตลอดจนเพื่อให้มีระเบียบในการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 ประกอบกับข้อ 2 แห่งประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การกำหนดหน่วยงานผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ ดำเนินการเกี่ยวกับการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนผู้สูงอายุในด้านต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 โดยได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ จึงวางระเบียบไว้
การคุ้มครองตามระเบียบนี้ ผู้สูงอายุต้องยินยอมเป็นหนังสือตามแบบที่อธิบดีกำหนด กรณีผู้สูงอายุไม่สามารถให้การยินยอมได้ ให้นักสังคมสงเคราะห์เป็นผู้รวบรวมข้อเท็จจริง และเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการ
เงื่อนไขการขอคุ้มครอง
การขอคุ้มครองสามารถขอได้เพียงคราวละ 1 คน หากจะรับมากกว่านั้น ให้ระบุเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องรับผู้สูงอายุไว้คุ้มครองดูแลมากกว่า 1 คน
คุณสมบัติการขอเป็นครอบครัวอุปถัมป์ มีดังนี้
1. มีสัญชาติไทย
2. มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ หรือถ้ามีอายุต่ำกว่า 18 ปี แต่มีความพร้อมในการดูแลผู้สูงอายุ อาจได้รับการอนุมัติเป็นราย ๆ ไป
3. มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกับผู้สูงอายุ
4. ได้รับความยินยอมจากสมาชิกทุกคนในครอบครัวว่า มีความพร้อมในการคุ้มครองผู้สูงอายยุ
5. ไม่เป็นผู้ต้องหากระทำผิดอาญา และอยู่ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล
สถานที่การยื่นขอเป็นครอบครัวอุปถัมป์
1. กรุงเทพฯ ให้ยื่นที่กรมกิจการผู้สูงอายุหรือศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค หรือหน่วยงานที่อธิบดีประกาศกำหนด
2. จังหวัดอื่น ยื่นคำขอได้ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด หรือศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุที่อยู่ในจังหวัดนั้น
เอกสารที่ใช้ของผู้ยื่นครอบครัวอุปถัมป์
1. ทะเบียนบ้าน
2. บัตรประชาชนหรือบัตรประจำตัวที่มีเลขบัตรประจำตัวประชาชน
3. รูปถ่ายหน้าตรง ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน
หลังจากนั้นจะมีนักสังคมสงเคราะห์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายไปเยี่ยมบ้านของผู้ยื่นคำขอและผู้สูงอายุ เพื่อตวรจสอบข้อเท็จจริงนำเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาคุณสมบัติต่อไป
จำนวนเงินที่ได้รับการคุ้มครอง
จะได้รับครอบครัวละ 2,000 บาทต่อผู้สูงอายุ 1 คนต่อเดือน เว้นแต่มีเหตุจำเป็นและเหมาะสม จะมีการพิจารณาให้เงินช่วยเหลือไม่เกินครอบครัวละ 3,000 บาทต่อผู้สูงอายุ 1 คนต่อเดือน
เว็บไซต์กรมกิจการผู้สูงอายุรายงานว่า โครงการดังกล่าวจะเริ่มต้นในเดือนพฤษภาคม 2567 โดยมีงบประมาณรองรับทั้งสิ้น 1,100 ราย