จากกรณีที่ มีข่าวเกี่ยวกับ จดหมายปรีดี เอกสารชิ้นสำคัญของ ปรีดี พนมยงค์” อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษอาวุโสของไทย ที่ฝากไว้ ณ หอจดหมายเหตุกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส โดยมีเวลาปิดผนึกยาวนานถึง 60 ปี กระทั่งล่าสุด (2 มกราคม 2024) ก็ได้เวลาเปิดจดหมายปรีดีกันแล้ว
จดหมายปรีดี คืออะไร
จดหมายปรีดี หรือ Dossier de Pridi Panomyong คือจดหมายของ “ปรีดี พนมยงค์” อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษอาวุโสของไทย ที่เขาได้มอบไว้ให้กับรัฐบางฝรั่งเศส และถูกเก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุกระทรวงต่างประเทศ (Centre des Archives diplomatiques du ministère des Affaires étrangères) โดยมีเวลาปิดผนึกยาวนานถึง 60 ปี และมีกำหนดการเปิดให้สาธารณชนเข้าถึงได้ ในปี 2024
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักประวัติศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัว ในช่วงต้นปี พ.ศ.2561 ระบุถึงจดหมายปรีดี พร้อมตั้งสมมติฐานถึง 2 ความเป็นไปได้ของเอกสารดังกล่าว คือ
-เป็นเอกสารส่วนตัว “ของ” ปรีดี พนมยงค์ ที่บริจาคให้หอจดหมายเหตุ โดยระบุไว้ว่าห้ามเปิดให้คนดูจนกว่าจะถึงปี 2024
-เป็นเอกสาร “เกี่ยวกับ” ปรีดี พนมยงค์ อาจเป็นเอกสารข้อมูลที่กระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศสมีเกี่ยวกับปรีดีในช่วงปี 1968 - 1972
ทำไมเปิดอ่านได้ตอนปี 2024
จดหมายปรีดี ไม่ได้ถูกจัดให้อยู่ในหมวดเอกสารนักการทูตหรือจดหมายเหตุส่วนตัว แต่เป็นเอกสารที่เขียนและรวบรวมโดยสถานทูตฝรั่งเศสในประเทศไทย และส่งกลับมาที่กระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสในปารีส เมื่อปี 1977 ซึ่งตามกฎหมายเกี่ยวกับจดหมายเหตุในขณะนั้น ระบุว่าหากเป็นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับชีวิตส่วนตัว และ/หรือความมั่นคงของรัซ จะถูกกำหนดให้เข้าถึงได้ในอีก 60 ปีข้างหน้า จดหมายปรีดีจึงถูกกำหนดให้เข้าถึงได้ในปี 2024 นั่นเอง
ก่อนเปิดจดหมายปรีดีก็มีการคาดการณ์มากมายว่าข้อความด้านในจะพูดถึงเหตุการณ์หรือเรื่องราวอะไรบ้าง เช่น การร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475, เรื่องราวความขัดแย้งในคณะราษฎร, การก่อตั้งขบวนการเสรีไทย, กรณีสวรรคตของรัชการที่ 8 และความพยายามของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ต้องการคืนดีกับปรีดี เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีการสร้างมีมและมุกตลกจากจดหมายปรีดีขึ้นอีกมากมาย อย่างเมื่อเปิดออกมาจะกลายเป็นสูตรข้าวมันไก่ หรือเป็นจดหมายลูกโซ่ที่ต้องส่งต่อ